วัดอุโมงค์
วัดอุโมงค์ ถือเป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ เป็นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่ท่ามกลางป่าไม้ธรรมชาติ บรรยากาศสงบ ร่มรื่น มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีอุโมงค์ลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านบนอุโมงค์เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา
วัดอุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายใน เป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์นั้นมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1900-2000 เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่าง ๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ แต่ปัจจุบันค่อนข้างรางเลือนไปมากตามกาลเวลา และกำลังอยู่ในระหว่างการ บูรณะขึ้นใหม่ ส่วนด้านบนอุโมงค์นั้นเป็นเจดีย์ล้านนาเก่าแก่ ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณ ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด ส่วนด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลัก สกุลช่างพะเยา พ.ศ. 1950-2100 นอกจากนี้บริเวณวัดอุโมงค์ยังเป็นสวนพุทธธรรมที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา โดยด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน รวมทั้งยังเป็นสถานที่ดูนกที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่