วัดต่อแพ
วัดต่อแพ เป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำยวม เป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าเป็นวัดของชาวลัวะ หรือละว้า ที่สร้างขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว โดยวัดเหลือเพียงแค่ซากเจดีย์เก่าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ตรงกลาง และไม่มีใครกล้าเข้ามาในบริเวณนี้เนื่องจากเล่าลือกันว่าผีดุ ต่อมาชาวบ้านได้นิมนต์เจ้าอาวาสวัดต่อแพเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์เด็กเล็ก) ให้มาทำการบูรณะวัด โดยมีคณะศรัทธาบ้านเมืองปอน บ้านขุนยวม และบ้านต่อแพ ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้นมาเมื่อราวปี พ.ศ. 2461
สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็น ศาลาการเปรียญ อาคารสถาปัตยกรรมพม่าผสมไทใหญ่ที่สวยงามที่สุดในอำเภอขุนยวม และยังมีสภาพสมบูรณ์ ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีความกว้างประมาณ 30 เมตร และยาวประมาณ 25 เมตร หลังคาซึ่งมีหลายชั้นแยกออกจากกันเป็นหลัง ๆ มุงด้วยสังกะสีที่สลักลวดลายสวยงาม เนื่องจากได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพระคณะพิสิฐศ์พรหมคุณ เจ้าอาวาสวัด อย่างสม่ำเสมอ วัตถุโบราณล้ำค่าหลายชิ้น เช่น ภายในศาลาการเปรียญมีผ้าม่านเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ทำด้วยกำมะหยี่ กว้าง 1.65 เมตร ยาว 3.80 เมตร ประดับลูกปัด มุก และทับทิม จำนวน 164 เม็ด ทำในพม่า เป็นเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน ตู้พระธรรมซึ่งนำมาจากเมืองมะละแหม่ง แกะสลักอย่างสวยงามจำนวน 2 ใบ ธรรมาสน์สร้างใน พ.ศ. 2464 และพระพุทธรูปล้ำค่าอีกหลายองค์ อาคารเก่าแก่หลายหลังภายในวัด ได้แก่ จองซอนหรือศาลาสรงน้ำพระ ซึ่งใช้เป็นที่สรงน้ำพระในเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทใหญ่ ถานหรือส้วมพระสงฆ์สมัยโบราณที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดาร มีหลังคาลดชั้นและลวดลายแกะสลักไม้ และปัจจุบันนี้ยังใช้งานได้ดี
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
วิหารและเจดีย์ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2463 ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลาการเปรียญ ทั้งนี้ องค์เจดีย์จะตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ และวิหารจะตั้งอยู่ด้านทิศใต้ อย่างไรก็ตาม วิหารและเจดีย์ของวัดต่อแพนี้ ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างตามแบบศิลปะพม่าผสมกับไทใหญ่ องค์เจดีย์มีฐานกว้างประมาณ 12 x 12 เมตร แต่ละทิศมีซุ้มพระประจำทิศ มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีสิงห์ทั้ง 4 มุม และฉัตรทอง ซึ่งมีระฆังห้อยหลายชั้น เมื่อลมพัดจะมีเสียงดังกังวานไปทั่ว อนึ่ง วิหารของวัดมีหลังคาสูงคล้ายวิหารที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง และมีเสากลม ตัวเพดานเขียนลวดลายอย่างสวยงาม จนได้รับการยกย่องว่า ที่นี่อาจเป็นวิหารที่สวยงามที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว