ถ้ำแก้วโกมล
ถ้ำแก้วโกมล ตั้งอยู่ในวนอุทยานแก้วโกมล อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถือเป็นถ้ำผลึกแคลไซต์แห่งที่ 2 ของโลก จาก 3 แห่ง (แห่งแรกอยู่ที่ประเทศจีน และแห่งที่ 3 คือประเทศออสเตรเลีย) ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญโดย นายสนั่น บุญทองใหม่ วิศกรเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำผลึกแคลไซต์ ที่ประกอบด้วยหินในตระกูลคาร์บอเนต ชนิดแอนไฮดรัสคาร์บอเนต ที่มีความใสกาวบริสุทธิ์มีรูปลักษณ์หลากหลายลักษณะ มีรูปผลึกอยู่ในระบบสามแกนราบ ส่วนใหญ่เป็นรูปหกเหลี่ยมยาวยอดแหลมหรือรูปสี่แหลมขนมเปียกปูน มีแนวแตกเรียบที่สมบูรณ์ 3 แนว เป็นสิ่งที่พบได้ยากในธรรมชาติ เพราะต้องมีองค์ประกอบที่ครบทั้ง หินปูน ไอน้ำร้อนที่ได้จะน้ำพูร้อนธรรมชาติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ไอสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตที่กลั่นตัวในอุณหภูมิสูงสุดและต้องอิ่มตัวในอุณหภูมิที่ต่ำสุด ภายในถ้ำจะมีผลึกแร่แคลไซค์ที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดหิมะ มีที่มาว่า ถ้ำน้ำแข็ง ภายในถ้ำมีความยาว 120 เมตร ลึกลงไป 30 เมตร ลักษณะของถ้ำแก้วโกมลเป็นถ้ำปิดมีทางเข้า-ออกอยู่ทางเดียว มีขนาดเล็กและมีอากาศน้อย จึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้รอบละ 15-20 คน การเข้าชมถ้ำต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการปั่นไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างภายในถ้ำ อีกทั้งเพื่อป้องกันการแย่งอากาศหายใจ และป้องกันไม่ให้เบียดเสียดจนไปสัมผัสแร่ ผลึกภายในถ้ำ จนเสียหาย
ภายในถ้ำแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 พระทัยธาร , ห้องที่ 2 วิมานเมฆ , ห้องที่ 3 เฉกหิมพานต์ , ห้องที่ 4 ม่านผาแก้ว , ห้องที่ 5 เพลิดแพรวมณีบุปผา โดยทั้ง 5 ห้อง ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งแต่ละห้องจะอยู่ถัดกันไปตามความลึกของถ้ำภายในถ้ำจะค่อนข้างชัน ยิ่งลึก ยิ่งสวยงามจับตา
ใกล้ปากทางเข้าถ้ำคือห้องแรก “พระทัยธาร” มีหินงอกหินย้อยและผลึกแคลไซต์ที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจในยุคแรกๆ จึงไม่สวยงามนัก ห้องนี้มีที่มาจากการที่น้ำในถ้ำ ละลายกับหินปูนทำให้เกิดภาพน้ำไหลเหมือนเป็นธารน้ำตก พระทัยธารซึ่งเป็นห้องแรกนี้ เป็นห้องที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดอุโมงค์มากที่สุด ความงามของห้องที่ก็คงจะมีเพียงร่องรอยลวดลายสายน้ำตกอันเป็นที่มาของชื่อห้องเท่านั้น
ห้องที่สองมีชื่อพระราชทานว่า “วิมานเมฆ” เพราะผนังถ้ำด้านบนดูคล้ายกับปุยเมฆ ห้องนี้มีลักษณะเป็นช่องยาว บางช่วงเป็นรูแคบ ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของโพรงน้ำไหลในอดีต ทำให้มีความลำบากในการเดินสำรวจ มีหินงอก หินย้อย และบางจุดมีผลึกแร่แคลไซต์เกาะอยู่ แต่มีความงดงามไม่มากนัก เนื่องจากผลึกบางส่วนได้แตกหักเสียหาย และมีรอยเปื้อนจากการถูกจับต้องระหว่างการเข้าสำรวจ
ห้องที่ 3 เกิดจากจินตนาการของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทอดพระเนตรแล้วเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ตามวรรณคดีไทย จึงมีชื่อพระราชทานว่า “เฉกหิมพานต์” ห้องนี้ต้องลงบันไดไปประมาณ 50 ม. เป็นห้องขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อยลักษณะเป็นผ้าม่าน สีขาวขุ่นถึงสีน้ำตาล ผลึกเหล่านี้ถูกละลายโดยน้ำเกิดเป็นคลื่นเป็นริ้วๆ สีขาวขุ่น หรือน้ำตาล ตามแต่สภาพน้ำที่ไหลเข้ามาเกาะตามผนังถ้ำ และย้อยลงมาอยู่ทั่วไป
เข้าสู่ห้องที่ 4 ที่มีชื่อพระราชทานอันเพราะพริ้งว่า “ม่านผาแก้ว” ภายในห้องนี้เราจะเริ่มเห็นความงดงามที่เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ สีดั่งแก้วใสขาวเกาะอยู่ราวกับม่านเต็มถ้ำ มีทั้งแบบที่คล้ายปะการัง คล้ายเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง ผลึกทั้งสามแบบมีความเปราะบางที่สุด ได้รับผลกระทบจากอากาศภายนอกจนลดน้อยลงไปมาก ส่วนผลึกรูปปะการังเป็นผลึกขนาดเล็กละเอียด จับตัวต่อเนื่องเป็นผืนจนเต็มผนังอย่างสวยงาม พบตอนในสุดของห้อง
ห้องสุดท้าย อยู่ลึกลงไปถึง 30 ม. เป็นห้องที่สวยงามที่สุด มีชื่อพระราชทานว่า “เพริศแพร้วมณีบุปผา” เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ มีผลึกแคลไซต์ที่สมบูรณ์ตั้งแต่พื้นจนจดผนัง ทั้งผลึกรูปเข็มและผลึกรูปปะการังสีขาวบริสุทธิ์ราวกับเกล็ดหิมะ สวยตรึงตราตรึงใจ ถือเป็นการปิดท้ายการชมถ้ำ ที่งดงามมาก ๆ เลยทีเดียว
Photo Credit: Shutterstock
เวลาเปิด-ปิด : วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล เปิดให้บริการเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. ยกเว้นช่วงฤดูฝนประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี